อีกหนึ่งความเชื่อที่ทำให้หลายคนไม่ได้เริ่มวางแผนทางการเงินสักทีก็เพราะว่า
มีหนี้สินจำนวนมากที่ต้องจัดการ จึงทำให้รายรับที่ได้ในแต่ละเดือนนอกจากจะหมดไป
กับการใช้จ่ายในชีวิตประจำวันแล้ว ยังหมดไปกับหนี้ที่ต้องชำระทุกสิ้นเดือน
ไม่เหลือพอที่จะแบ่งเพื่อเก็บออมหรือนำเงินไปลงทุนให้งอกงาม ที่จริงแล้ว
ความเชื่อที่ว่าเราต้องจ่ายหนี้สินให้หมด แล้วค่อยนำเงินมาเก็บออมหรือลงทุนต่อ
เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องเสียทีเดียว เราไม่จำเป็นต้องเลือกทำ 3 สิ่งนี้ตามลำดับขั้นก่อนหลัง
แต่สามารถเริ่มทำไปได้พร้อมๆ กัน มาดูกันว่าเรามีวิธีบริหารจัดการการเงินอย่างไร
รายได้ 40% (จ่ายหนี้) – 20% (เก็บออม) – 5% (ลงทุน) = 35% (ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน)
***สูตรสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามสภาพการเงินของแต่ละบุคคล***
1. จ่ายหนี้ตรงเวลา แก้ไขอดีตอย่างเป็นขั้นเป็นตอน
การเป็นหนี้ ไม่ได้แปลว่าเราจะเริ่มต้นชีวิตทางการเงินที่ดีต่อไปในอนาคตไม่ได้
หลายคนมักหมดกำลังใจในการเก็บออมเงิน หรือสร้างความมั่นคงให้ชีวิตเพราะติดกับเรื่องนี้
ใครที่กำลังติดหนี้คงเข้าใจว่าการที่เราตั้งใจทำงาน อดทนต่อความเหนื่อยยากลำบาก
เพื่อที่จะได้เงินในแต่ละเดือนมานั้นเป็นเรื่องไม่ง่าย หากเรานำเงินทั้งหมดไปจ่ายดอกเบี้ย
ที่ต้องใช้เวลาอีกยาวนาน บางทียังมองไม่เห็นวี่แววว่าจะสามารถนำเงินก้อนมาปิดยอดหนี้ได้อย่างไรหมด
คงทำให้ชีวิตในแต่ละวันของเราทุกข์ทรมานไม่น้อย กำลังใจในการทำงานหาเงินก็ลดลง
เพราะรู้ว่าถึงตั้งใจทำเท่าไหร่ก็ต้องนำเงินมาใช้หนี้อยู่ดี
เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราอยากแนะนำก็คือ จดรายละเอียดหนี้ของตัวเองออกมาทั้งหมด
ว่าแต่ละยอดมีดอกเบี้ยเท่าไหร่ ยอดรวมเท่าไหร่ แล้วเลือกจ่ายเงินไปกับหนี้ที่มีดอกเบี้ยมากที่สุด
หากเป็นไปได้ เมื่อได้รายรับมา ควรแบ่งเงินไว้เลย 40% เพื่อจ่ายหนี้ก้อนนี้ทั้งหมด
สำหรับใครที่มีหนี้ที่อยู่ในระบบอย่าผิดนัดชำระ เพราะนอกจากจะทำให้เสียเครดิตแล้ว
ยังมีโอกาสเสี่ยงสูงที่เจ้าหนี้จะเรียกเก็บอัตราดอกเบี้ยในกรณีที่ผิดนัดชำระ ราว 13-15% ซึ่งเป็นอัตราที่สูง
ไม่แพ้การกู้นอกระบบเลย รวมถึงอย่ารีรอที่จะเข้าไปเจรจาผ่อนผันหนี้กับสถาบันการเงิน
เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่จะช่วยลดดอกเบี้ยไปได้เยอะทีเดียว
2. ลงทุนเพื่อสร้างความหวังให้ชีวิต
เมื่อหนี้สินเก่ากำลังจะหมดไป ชีวิตกำลังก่อร่างสร้างตัว เราก็ควรเสริมสร้างความมั่นคงให้กับชีวิต
ด้วยการลงทุน เมื่อแบ่งเงิน 40% ไปกับการชำระหนี้ อีก 20% แบ่งเก็บออม ลองเจียดเงินมา 5%
ในการลงทุน อาจจะเริ่มจากการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำประเภทกองทุนรวม เมื่อลงทุนเป็นประจำ
ต่อเนื่องทุกเดือนเป็นเวลา 5 -10 ปีก็จะมีแนวโน้มได้รับผลตอบแทนที่มากกว่าการฝากประจำ
3. แบ่งเงินออมสร้างกำลังใจ เงินที่หามาเหนื่อยต้องถึงตัวเรา
หลังจากแบ่งเงิน 40% ของรายได้ไปกับการจ่ายหนี้ ลองแบ่งเงิน 20% ของรายได้
แบ่งไปกับการออมเงินใน 20% นั้นจะแบ่งย่อยออกเป็นก้อนสำรองฉุกเฉิน สัก 10% ที่เหลือ
ลองตั้งเป้าหมายถึงสิ่งที่อยากได้ไว้ เช่น ซื้อกระเป๋า, ไปเที่ยวต่างจังหวัด เพื่อเติมเต็มความสุขเล็กๆ
ที่ช่วยให้เรามีกำลังใจในการหาเงินได้มากยิ่งขึ้น รับเงินด้วยความชื่นใจ ไม่ใช่ว่าได้เงินมา
ก็ต้องจ่ายหนี้ให้คนอื่นไปเสียหมด ที่สำคัญเมื่อออมเงินไปถึงในแต่ละเป้าหมาย
ยังช่วยเสริมความมั่นใจให้ตัวเราเองได้เป็นอย่างดี หนี้ที่ติดค้างอยู่ก็ไม่กังวลเพราะมั่นใจว่า
ยังไงก็สามารถก้าวผ่านไปได้ สำหรับใครที่เหลือภาระหนี้น้อยลงแล้ว ลองลดสัดส่วน
ของการชำระหนี้ให้เหลือสัก 30% แบ่งเงินออมเยอะขึ้นสัก 30% ก็จะยิ่งสร้างความมั่นคงให้ชีวิตได้เร็วขึ้น
ที่มา :: จรัลพร พึ่งโพธิ์