การเริ่มต้นชีวิตคู่คือการเตรียมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ทั้งในเรื่องชีวิตความเป็นอยู่
ที่จะต้องย้ายเข้าไปอยู่บ้านใหม่ และเปิดรับคู่รักที่อาจมีนิสัยบางอย่างแตกต่างกันเข้ามาในชีวิต
อีกเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กันเลยคือเรื่องการเงิน ซึ่งเป็นเรื่องที่อาจจะต้องวางแผนกันตั้งแต่
ก่อนแต่งงานเลยด้วยซ้ำไป การแต่งงานซึ่งเป็นอีกจุดหมายของจุดเริ่มต้นชีวิตคู่
ที่ก็ต้องอาศัยการวางแผนการเงินที่รอบคอบเช่นกัน การแต่งงานมีค่าใช้จ่ายมากมายจนเราคิดไม่ถึง
ดังนั้นถ้าหากคู่รักคู่ไหนพร้อมจะเริ่มต้นชีวิตคู่ และวางแผนแต่งงานกันแล้ว อีกแผนที่ขาด
ไม่ได้เลยคือแผนออมเงินเพื่อการจัดงานแต่งงาน วันนี้เรานำค่าใช้จ่ายแต่ละประเภท
ในการจัดงานแต่งงานมาฝากกัน คู่รักป้ายแดงทุกคนจะได้เตรียมตัวออมเงินเพื่องานแต่งงานในฝันได้สำเร็จ
…
งานแต่งงานแบ่งเป็น 3 ขนาด คือขนาดเล็กที่มีจัดใกล้ชิดแค่คนในครอบครัว มีแขกไม่เกิน 50 คน
ขนาดกลางมีแขกไม่เกิน 100 คน และขนาดใหญ่มีแขก 100 คนขึ้นไป
1. ค่าชุดเจ้าบ่าวเจ้าสาว สามารถเริ่มต้นได้ตั้งแต่ 2,000-100,000 บาท ขึ้นอยู่กับความชอบของบ่าวสาว
ว่าต้องการชุดแต่งงานรูปแบบไหน หากเป็นชุดที่เช่าตามร้านเช่าชุดก็จะใช้จ่ายแค่หลักพันเท่านั้น
แต่ถ้าสั่งตัดหรือใช้แบรนด์ไฮเอนด์ก็อาจสูงจากหลักหมื่นถึงหลักแสน
2. ค่าช่างแต่งหน้าบ่าวสาว เริ่มต้นตั้งแต่ 2,000 – 30,000 ขึ้นอยู่กับช่างแต่งหน้าที่เลือกใช้
ถ้าหากเจ้าสาวมีฝีมือในการแต่งหน้าก็อาจประหยัดค่าใช้จ่ายตรงนี้ไปได้
3. ชุดเพื่อนเจ้าบ่าวเจ้าสาว เริ่มต้นตั้งแต่ 400 – 20,000 ขึ้นอยู่กับความต้องการของบ่าวสาวเช่นกัน
ว่าอยากให้เพื่อนๆ ใส่ชุดอย่างไร หรือตรงนี้อาจประหยัดไปได้ถ้าบ่าวสาวไม่ต้องการ
4. ค่าถ่ายรูป Pre-wedding เริ่มต้นตั้งแต่ 2,000 ถ้าหากถ่ายในสตูดิโอ และอาจสูงถึง 100,000
ถ้าหากไปถ่ายนอกสถานที่ หรือที่ต่างประเทศ ซึ่งค่าใช้จ่ายส่วนนี้กำหนดได้ตามความต้องการของบ่าวสาว
5. ค่าสถานที่ เริ่มต้นตั้งแต่ 5,000 – 20,000 หากเลือกจัดตามหอประชุมของสถานที่ราชการ
หรือ 50,000 -1,000,000 บาทหากเลือกจัดตามโรงแรมหรู
6. การ์ดแต่งงานและของชำร่วย ค่าใช้จ่ายตรงนี้ไม่สูงมากนัก และปรับแต่งเองได้
ตามรูปแบบการ์ดและของชำร่วยที่เราต้องการ อาจเริ่มต้นแค่หลักร้อยไปจนถึงหลักหมื่น
7. ค่าอาหาร ส่วนนี้สามารถเลือกใช้บริการโรงแรมที่เราเช่าสถานที่หรือเลือกจ้างเองข้างนอกก็ได้
โดยจะขึ้นอยู่กับจำนวนแขกในงานและรูปแบบอาหารที่เราต้องการ โดยอาจคิดเป็นหัว
หรือเป็นโต๊ะ เริ่มต้นที่ 10,000 – 500,000
เมื่อคุณและคู่รักวางแผนงบประมาณในการแต่งงานตามกำลังเงินที่มีคร่าวๆ แล้ว ก็เริ่มต้นออมเงิน
ตามเป้าหมายกันเลย ยิ่งออมเร็วยิ่งได้มาก มีวินัยในการออมอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้งานแต่งงานในฝันครั้งนี้
ของคุณเกิดขึ้นได้อย่างราบรื่น และเก็บความประทับใจไปได้ตลอดชีวิต นอกจากนี้หากอยากจะสร้างครอบครัว
ที่มั่นคง ควรมีการวางแผนทางการเงินที่ชัดเจน รัดกุม มีการเก็บเงินสำรองเผื่อไว้สำหรับลูกน้อย
ที่จะมาในเร็ววัน และบ้านที่ต้องขยายรอรับครอบครัวใหญ่ การมีข้อตกลง และมีการจัดการเรื่องเงินที่ดี
เป็นสิ่งที่สำคัญมาก เราขอแนะนำให้คุณทำตามเคล็ดลับต่อไปนี้
1. เปิดเผยเรื่องเงินเสมอ พูดคุยปรึกษากันเรื่องการใช้เงิน รายได้ และภาระค่าใช้จ่ายของแต่ละคน
เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกันตั้งแต่ต้น และรู้ว่าแต่ละคนมีรูปแบบการใช้จ่ายอย่างไร
มีภาระอะไรบ้างในแต่ละเดือน จะได้ไม่เกิดความขัดแย้งกันภายหลัง
2. มีเงินของคุณ มีเงินของเขา และมีเงินของเราสองคน การแบ่งเรื่องเงินควรมีการวางงบประมาณ
แบ่งพื้นที่ค่าใช้จ่ายให้แต่ละคนนำเงินไปใช้ตามความสุขของตนเองอย่างเหมาะสมด้วยเพื่อไม่ให้
การเงินตึงเครียดมากไป แต่ก็ควรมีเงินกองกลางของเราส่วนที่ใช้ร่วมกัน เช่น จ่ายค่าบ้าน ค่าน้ำ ค่าไฟด้วยเช่นกัน
3. มีบัญชีเงินสำรองฉุกเฉิน ที่เก็บร่วมกันไว้ใช้จ่ายในเหตุการณ์ฉุกเฉินต่างๆ เช่น มีใครคนใดคนหนึ่งเจ็บป่วย
หรือขาดรายได้ เป็นต้น จะได้ไม่ต้องหยิบเงินออมมาใช้ให้กระทบเป้าหมายการออมเงิน
4. ทั้งคู่มีสิทธิ์จัดการการเงิน พูดคุยอัปเดตกันถึงแผนการเงินบ่อยๆ ทั้งคู่มีสิทธิ์ออกความเห็น
หากแผนหรืองบการใช้จ่ายไม่เป็นไปตามที่ต้องการ และหาทางตัดสินใจร่วมกัน
อย่าโยนการดูแลการเงินในบ้านไปที่คนในคนหนึ่งเพียงคนเดียว และอย่าจำกัดสิทธิ์การดูแลเงินของอีกฝ่าย
5. วางแผน และสร้างเป้าหมายการออมเงินร่วมกัน สร้างเป้าหมายที่ชัดเจน เช่น เก็บเงินซื้อบ้าน
เก็บเงินค่าดูแลลูก ค่าเทอมลูก ค่ารถคันใหม่ เลือกเป้าหมายที่พอใจทั้ง 2 ฝ่าย
วางแผนที่รัดกุมร่วมกันและปฏิบัติตามแผนนั้นอย่างเคร่งครัด เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการออม
มีชีวิตคู่ที่ราบรื่น ตรงใจ สบายใจกันทั้งสองฝ่าย